ฉนวนกันความร้อนกับการประหยัดพลังงานในอุตสาหกรรม
อากาศร้อนอบอ้าวแบบนี้ โรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องเปิดใช้งานระบบปรับอากาศตลอด 24 ชม. ย่อมมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้าสูง การใช้วัสดุประเภทฉนวนกันความร้อน เป็นวิถีทางหนึ่งในการลดความสูญเสียพลังงานที่ใช้และเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานให้คุ้มค่ามากที่สุด เนื่องจากสามารถช่วยลดการสูญเสียความร้อนและรักษาอุณหภูมิให้อยู่ในระดับที่ต้องการ
โดยธรรมชาติแล้ว ความร้อนจะเคลื่อนที่จากที่อุณหภูมิสูงไปยังที่ที่มีอุณหภูมิต่ำเสมอ หลักการทำงานของฉนวนกันความร้อนก็คือ ทำหน้าที่ชะลอการเคลื่อนที่ของความร้อนนี้ ซึ่งวัสดุฉนวนกันความร้อนที่ใช้งานกันทั่วไป ได้แก่ ฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์ ฉนวนกันความร้อน, ฉนวนกันความร้อนแบบโฟม, ฉนวนใยแก้ว และ ฉนวนใยหิน แต่ก่อนที่เราจะทำการเลือกวัสดุฉนวนกันความร้อนสำหรับใช้ในอุตสากรรมของเรานั้น เราน่าจะมาทำความรู้จักกับคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุฉนวนกันความร้อน แต่ละชนิดกันสักเล็กน้อย
1. วัสดุฉนวนอลูมิเนียมฟอยล์ ความมันวาวของผิวแผ่นฟอยล์ มีคุณสมบัติในการสะท้อนความร้อน ข้อดีคือทนความชื้น ไม่ติดไฟและไม่ลามไฟ ไม่ฉีกขาดง่าย
2. วัสดุฉนวนกันความร้อนแบบโฟม เช่น พอลิไอโซไซยานูเรต (PIR แท้ๆ) มีข้อดี คือ เป็นฉนวนกันความร้อนที่สามารถใช้งานได้ตั้งแต่ห้องเย็นไปจนถึงห้องอบ กันความร้อน ช่วยรักษาอุณหภูมิ และกันไฟได้
3. วัสดุฉนวนใยแก้ว หรือที่รู้จักกันในชื่อทางการค้าว่า ไมโครไฟเบอร์ มีโพรงอากาศเล็กๆ จำนวนมหาศาล ซึ่งแทรกอยู่ระหว่างเส้นใยแก้วจะทำหน้าเก็บกักความร้อนไว้และลดการส่งถ่ายความร้อนจากด้านหนึ่งไปยังอีกด้านหนึ่ง นอกจากนี้โพรงอากาศเล็กๆ เหล่านั้นสามารถลดทอน พลังงานเสียงที่ผ่านเข้ามาให้เหลือพลังงานที่สะท้อนออกไปน้อยลง วัสดุฉนวนใยแก้วจัดเป็นฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียงที่มีประสิทธิภาพมีความอ่อนตัวและคืนตัวดี สามารถทนไฟได้ประมาณ 300 องศาเซลเซียส ปัจจุบันยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าใยแก้วเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือไม่ จึงยังคงเป็นที่นิยมใช้กันอยู่ทั่วไป
4. วัสดุฉนวนใยหิน จัดเป็นเส้นใยจากธรรมชาติที่ไม่มีสารประกอบของ แอสเบสตอส (Asbestos) จึงปลอดภัยต่อสุขภาพ สมบัติในการกันความร้อนและดูดซับเสียง เทียบเท่ากับฉนวนใยแก้วแต่สามารถทนไฟได้ดีกว่า ทั้งวัสดุฉนวนชนิดใยแก้วและใยหิน มีข้อด้อยคือไม่ทนทานต่อความเปียกชื้น เช่น ฉนวนใยหินร็อควูล (Rockwool)
สรุปหลักเกณฑ์ง่ายๆ ในการพิจารณาเลือกใช้วัสดุฉนวนกันความร้อน คือ
- ความสามารถในการป้องกันความร้อนช่วงอุณหภูมิการใช้งาน
- การเปลี่ยนรูปร่างเมื่อได้รับความร้อน
- การกันน้ำและความชื้น
- การทนต่อแมลงและเชื้อรา
- ความปลอดภัยต่อสุขภาพ
- การเสื่อมสภาพและความต้องการการบำรุงรักษา
เพียงเท่านี้ก็ทำให้คุณสามารถเลือกซื้อวัสดุฉนวนกันความร้อนที่เหมาะสมและสามารถช่วยประหยัดพลังงานได้แล้ว ซึ่งนอกจากจะประหยัดเงินในกระเป๋าแล้วยังเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงาน